Translate

Total Pageviews

King Sakka (Indra)

 เรื่องท้าวสักกะ




พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในวัดกูฎาคารศาลา  ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 30  นี้

ครั้งหนึ่งเจ้าลิจฉวีพระนามว่า มหาลิ ได้เสด็จมาฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา  พระศาสดาได้ทรงแสดง สักกปัณหสูตร  โดยที่พระศาสดาทรงกล่าวถึงท้าวสักกะอย่างกระจ่างชัดมาก  ดังนั้นเจ้ามหาลิจึงดำริว่าพระศาสดาจะต้องเคยพบกับท้าวสักกะด้วยพระองค์เองมาแน่ๆ  แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจเจ้ามหาลิจึงได้ทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา ซึ่งพระศาสดาได้ตรัสตอบว่า “มหาลิ  อาตมภาพรู้จักท้าวสักกะ  อาตมภาพยังรู้ด้วยว่าธรรมะอะไรทำให้ท้าวเธอเป็นท้าวสักกะ” จากนั้นพระศาสดาได้ทรงเล่าว่าท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลายนี้ในอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มีชื่อว่า มฆมาณพ อยู่ในหมู่บ้านชื่ออจาละในแคว้นมคธ  มฆมาณพนี้กับสหายอีก 32 คนได้ช่วยกันก่อสร้างถนนหนทาง และที่พักริมทาง   สำหรับตัวมฆมาณพเองนั้นได้ปฏิบัติวัตรบท 7 ประการ  ตลอดชีวิต คือ 1. เลี้ยงดูบิดามารดา 2. ให้ความเคารพผู้ใหญ่ในตระกูล 3. พูดคำสุภาพอ่อนหวาน 4. ไม่พูดส่อเสียด 5. ชอบเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ตระหนี่ 6. มีวาจาสัตย์ และ 7. ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้

เพราะกระทำคุณงามความดีและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหล่านี้ในชาตินั้นทำให้มฆมาณพได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะ เจ้าแห่งเทวดาทั้งหลาย

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 30 ว่า

อปฺปมาเทน มฆวา
เทวานํ เสฏฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ
อปฺปมาทํ ครหิโต สทาฯ

ท้าวมัฆวานถึงความเป็นใหญ่แห่งหมู่เทพ
เพราะความไม่ประมาท(ในการทำความดี)
บัณฑิตจึงสรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ.

เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ  ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล  ส่วนบริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น.

The story of two monks​' friendship

 เรื่องภิกษุ ๒ สหาย




พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ ๙
 นี้

ภิกษุ 2 รูปหลังจากรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วก็ไปอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในป่า  รูปหนึ่งมัวแต่ประมาทใช้เวลาให้หมดไปด้วยการผิงไฟและพูดคุยกับสามเณรหนุ่มๆตลอดยามหนึ่ง พอถึงยามที่สองก็เอาแต่นอนหลับ ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งกระทำหน้าที่ของพระภิกษุอย่างแข็งขัน  พระภิกษุรูปนี้กระทำกัมมัฏฐานในยามแรก พักผ่อนในยามที่สอง และลุกขึ้นมากระทำกัมมัฏฐานอีกในยามสุดท้าย   ด้วยเหตุที่ภิกษุรูปที่สองนี้มีความขยันขันแข็งและไม่ประมาทจึงสามารถบรรลุพระอรหัตตผลได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้เดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดา  และพระศาสดาได้ทรงสอบถามว่าในระหว่างพรรษาท่านทั้งสองรูปใช้เวลาให้หมดไปด้วยการทำอะไรบ้าง  พระภิกษุรูปที่เกียจคร้านและประมาทนั้นตอบว่า ภิกษุสหายของตนมีแต่เกียจคร้านเอาแต่นอนหลับ เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า “แล้วตัวเธอเล่า ?”   ก็ได้กราบทูลว่า ปกติแล้วตนจะนั่งผิงไฟในยามต้นและต่อจากนั้นก็จะลุกขึ้นมานั่งไม่นอน  แต่พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีว่าภิกษุทั้งสองรูปใช้เวลาในแต่ละวันให้หมดไปกันอย่างไรบ้าง  ดังนั้นพระศาสดาจึงตรัสกับพระรูปที่เกียจคร้านว่า “แม้ว่าเธอเกียจคร้านและประมาทแต่เธอก็ยังมาอ้างว่าตัวเองขยันไม่ประมาท  และเธอมาใส่ความภิกษุอีกรูปหนึ่งว่าเกียจคร้านและประมาททั้งๆที่เขามีความขยันและไม่ประมาท เธอนั่นแหละเป็นเหมือนม้าอ่อนแอวิ่งช้าเมื่อเทียบกับบุตรของเราที่เหมือนกับม้าแข็งแรงวิ่งเร็ว”

จากนั้นพระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 29 ว่า

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ
สตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส
หิตวา ยาติ สุเมธโสฯ

ผู้มีปัญญาดี ไม่ประมาท เมื่อคนอื่นหลับก็จะตื่น
เขาจึงทิ้งคนอื่นไป
เหมือนม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าวิ่งช้าไว้เบื้องหลัง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.