การที่เราเปล่งเสียงออกมาจากลำคอครั้งหนึ่ง ๆ นั้น เราเรียกเสียงที่เปล่งออกมาว่า “พยางค์”
แม้ว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม เช่น เราเปล่งเสียง “สุ” ถึงจะไม่
รู้ความหมาย หรือไม่รู้เรื่องเราก็เรียกว่า ๑ พยางค์ หากเราเปล่งเสียงออกมาอีกครั้งหนึ่งว่า “กร” จะ
เป็น “สุกร” จึงจะมีความหมาย คำว่า “สุกร” ซึ่งเปล่งเสียง ๒ ครั้ง เราก็ถือว่ามี๒ พยางค์ เสียงที่เปล่ง
ออกมาครั้งเดียวมีความหมาย เช่น นา หมายถึง ที่ปลูกข้าว เสียงที่เปล่งออกมาว่า “นา” นี้เป็น ๑
พยางค์
ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้
ไร่ มี๑ พยางค์
ชาวไร่ มี๒ พยางค์ (ชาว-ไร่)
สหกรณ์ มี๓ พยางค์ (สะ-หะ-กอน)
โรงพยาบาล มี๔ พยางค์ (โรง-พะ-ยา-บาน)
นักศึกษาผู้ใหญ่ มี๕ พยางค์ (นัก-สึก-สา-ผู้-ใหญ่)
สหกรณ์การเกษตร มี๖ พยางค์ (สะ-หะ-กอน-การ-กะ-เสด)
จากตัวอย่างข้างบนนี้สรุปได้ว่า
พยางค์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม ถ้าเปล่ง
เสียงออกมา ๑ ครั้ง ก็เรียก ๑ พยางค์ สองครั้งก็เรียก ๒ พยางค์
องค์ประกอบของพยางค์
พยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ออกมาพร้อม ๆ กัน พยางค์ที่มี
ความหมายอาจจะเป็นพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้
พยางค์แต่ละพยางค์จะต้องมีส่วนประกอบ ๓ ส่วนขึ้นไป คือ สระ พยัญชนะ และ
วรรณยุกต์ การประกอบสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์เข้าเป็นพยางค์เรียกว่า การประสมอักษรมี๔
วิธี คือ
๑. การประสมสามส่วน คือ การประกอบพยางค์ด้วยพยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ เช่น
กา องค์ประกอบ คือ
๑. พยัญชนะ ก
๒. สระ อา
๓. วรรณยุกต์ เสียงสามัญไม่มีรูป
๒. การประสมสี่ส่วน คือ การประสมพยางค์ด้วยพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะท้ายพยางค์หรือ
ตัวสะกด และวรรณยุกต์ เช่น
เกิด องค์ประกอบ คือ
๑. พยัญชนะต้น ก
๒. สระ เออ
๓. วรรณยุกต์ เสียงเอกไม่มีรูป
๔. ตัวสะกด ด
๓. การประสมสี่ส่วนพิเศษ คือ การประกอบพยางค์ด้วยพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะท้าย พยางค์ที่
ไม่ออกเสียงหรือตัวการันต์ และวรรณยุกต์ เช่น
เล่ห์องค์ประกอบ คือ
๑. พยัญชนะต้น ล
๒. สระ เอ
๓. วรรณยุกต์ เสียงโท
๔. ตัวการันต์ ห
๔. การประสมห้าส่วน คือ การประกอบพยางค์ด้วยพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะท้ายพยางค์หรือ
ตัวสะกด พยัญชนะท้ายพยางค์ที่ไม่ออกเสียง หรือตัวการันต์ และวรรณยุกต์ เช่น
สิงห์องค์ประกอบ คือ
๑. พยัญชนะ ส
๒. สระ อิ
๓. วรรณยุกต์ เสียงจัตวาไม่มีรูป
๔. ตัวสะกด ง
๕. ตัวการันต์ ห
คำ
ความหมายของคำ
คำ ตามความหมายในหลักภาษา หมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมายอย่างใด
อย่างหนึ่ง อาจเป็นเสียงที่เปล่งออกมาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ เช่น
นา เป็นคำ๑ คำ ๑ พยางค์
ชาวนา เป็นคำ๑ คำ ๒ พยางค์
นักศึกษา เป็นคำ๑ คำ ๓ พยางค์
คำคือ พยางค์ที่มีความหมาย คำมากพยางค์คือ พยางค์หลายพยางค์รวมกันแล้วมีความหมาย
ผู้เรียนพอจะทราบไหมว่า พยางค์กับคำต่างกันอย่างไร อ่านต่อไปท่านก็จะทราบ
พยางค์คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
คำคือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งจะกี่พยางค์ก็ตามถ้าได้ความจึงจะเรียกว่า “คำ”
องค์ประกอบของคำ
คำหนึ่ง ๆ จะต้องประกอบด้วย เสียง แบบสร้างและความหมาย
๑. เสียง คำหนึ่งอาจมีเสียงเดียวหรือหลายเสียงก็ได้ คำเสียงเดียวเรียกว่า คำพยางค์เดียว คำหลาย
เสียงเรียกว่า คำหลายพยางค์
คำพยางค์เดียว เช่น กิน นอน เดิน น้ำ ไฟ ฯลฯ
คำหลายพยางค์ เช่น บิดา นาฬิกา กระฉับกระเฉง ฯลฯ
๒. แบบสร้าง คำประกอบด้วยพยางค์ และพยางค์หนึ่ง ๆ อาจมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน ๔ ส่วน ๕
ส่วนก็ได้
๓. ความหมาย คำจะต้องมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ เช่น ขัน มี
ความหมายต่างกันสุดแต่ทำหน้าที่ใด ขึ้นอยู่กับรูปและประโยค เช่น
ขันใบนี้ ทำหน้าที่นาม แปลว่า ภาชนะใส่สิ่งของ
ไก่ขัน ทำหน้าที่กริยา แปลว่า ร้อง
เขาขันเชือก ทำหน้าที่กริยา แปลว่า ทำให้แน่น
เขาทำงานแข็งขัน ทำหน้าที่วิเศษณ์ แปลว่า ขยันไม่ย่อท้อ
เขาพูดน่าขัน ทำหน้าที่วิเศษณ์ แปลว่า ชวนหัวเราะ
สรุป โครงสร้างของพยางค์และคำ
พยางค์
เสียงพยัญชนะ + เสียงสระ + เสียงวรรณยุกต์
พยางค์+ ความหมาย
คำ
กลุ่มพยางค์+ ความหมาย
ชนิดและหน้าที่ของคำในภาษาไทย
ชนิดของคำ
มนุษย์เราที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันเพื่อให้รู้ความต้องการและ
เข้าใจความรู้สึกนึกคิด ของกันและกัน การติดต่อสื่อสารกันทำได้หลายทาง แต่ทางที่สำคัญที่สุด คือ
ทางการพูดและการเขียนข้อความ ที่ผู้พูดหรือผู้เขียนกล่าวออกไปจะยืดยาวเพียงใด ข้อความนั้น
อาจจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ได้ ช่วงของข้อความที่บรรจุความคิดที่สมบูรณ์ หรือ ข้อความอันบริบูรณ์
ช่วงหนึ่งเรียกว่าประโยคในแต่ละประโยคจะมีการใช้คำ ในประโยค แตกต่างกันออกไปตาม
ความหมายและหน้าที่ของคำในประโยค บรรดาคำทั้งหลาย ที่ใช้กัน อยู่ในภาษาไทย จำแนก
ออกเป็นชนิดต่าง ๆ กัน ดังนี้
๑. คำนาม
๒. คำสรรพนาม
๓. คำกริยา
๔. คำวิเศษณ์
๕. คำบุพบท
๖. คำสันธาน
๗. คำอุทาน
๑. คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อ คน สัตว์ สิ่งของ แบ่งเป็น ๕ ชนิด คือ
๑.๑ สามานยนาม คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อโดยทั่วไป เช่น คน นก ม้า เรือ รถ
๑.๒ วิสามานยนาม คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อเฉพาะ เช่น กรุงเทพฯ โรงพยาบาลศิริราช สมศักดิ์
๑.๓ สมุหนาม คือ คำนามที่ใช้เป็นชื่อ หมวด หมู่ กอง คณะ เพื่อให้รวมกันเป็น หมวด หมู่ กอง
คณะ ฝูง โขลง รัฐบาล บริษัท
๑.๔ ลักษณะนาม คือ คำนามที่ใช้บอกลักษณะของนาม เพื่อให้รู้สัดส่วนรูปพรรณสัณฐาน ของ
คำนามนั้น ๆ เช่น กิ่ง ขอน ปาก ฉบับ พระองค์ บาน วง ปื้น เลา ฯลฯ
๑.๕ อาการนาม คือ คำนามซึ่งเกิดจากคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ มีคำ การ และความ นำหน้า เช่น
การเดิน การเล่น ความเจริญ ความตาย ความรู้ ความดี ความเร็ว
๒. คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนชื่อ หรือคำที่ใช้แทนคำนามทั้งปวง มี๖ ชนิด
๒.๑ บุรุษสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามในการพูดจา แบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ บุรุษ
ที่๑ บุรุษที่๒ และบุรุษที่๓ เช่น ฉัน ท่าน เขา
๒.๒ ประพันธสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามซึ่งอยู่ข้างหน้า ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน
๒.๓ ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนาม และใช้เป็นคำถาม ได้แก่ ใคร อะไร
ไหน ผู้ใด สิ่งไร ฯลฯ
๒.๔ วิภาคสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนนามเพื่อแยกนามนั้นออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน
เช่น ชาวนาต่างไถ่นา นักเรียนบ้างก็เล่นบ้างก็เรียน เขารักกัน นักมวยชกกัน
๒.๕ นิยมสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามเพื่อบอกความกำหนดให้ชัดเจน เช่น นี่ นี้ นั่น โน้น
๒.๖ อนิยมสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามแต่ไม่บอกแน่นอน เช่น ใคร อะไร ที่ไหน ใด ๆ
อนิยมสรรพนามคล้ายปฤฉาสรรพนาม แต่ปฤจฉาสรรพนามใช้เป็นคำถามอนิยมสรรพนาม ใช้เป็น
ความบอกเล่า
๓. คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการของนาม หรือสรรพนาม มี๔ ชนิด คือ
๓.๑ อกรรมกริยา คือ กริยาที่ไม่ต้องการกรรมมารับข้างท้าย เพราะมีใจความครบบริบูรณ์แล้ว
ได้แก่ นั่ง นอน ยืน เดินไป พูด บิน พัง พัด ไหล หัก หัวเราะ ฯลฯ
๓.๒ สกรรมกริยา คือ กริยาที่ต้องการกรรมมารับข้างท้ายจึงจะได้ความสมบูรณ์ ได้แก่ เขียน ตี
กิน จับ ไล่ เปิด อ่าน ฯลฯ
๓.๓ วิกตรรถกริยา คือ กริยาที่ต้องอาศัยเนื้อความของวิกัติการกที่อยู่ข้างท้ายจึงจะได้ความ
สมบูรณ์ ได้แก่ เหมือน คล้าย เท่า คือ ดัง
๓.๔ กริยานุเคราะห์ คือ กริยาที่ใช้ประกอบหรือช่วยกริยาสำคัญในประโยค ได้แก่ กำลัง พึ่ง น่า
จะ จัก จง คง เคย ควร ชะรอย ต้อง ถูก พึง ย่อม ยัง ฯลฯ
๔. คำวิเศษณ์คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นให้มีเนื้อความแปลกออกไป คำที่ใช้ประกอบ ได้แก่ คำนาม
คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ จำแนกออกเป็น ๑๐ ชนิด คือ
๔.๑ ลักษณวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกลักษณะของคำนั้น ๆ โดยมากใช้ประกอบ
คำนาม คำสรรพนามที่ใช้ประกอบคำกริยาและกริยาวิเศษณ์มีน้อย เช่น
๑) บอกชนิด ได้แก่ ชั่ว เลว แก่ อ่อน หนุ่ม สาว ฯลฯ คนชั่ว คนดี โคแก่ หญ้าอ่อน
๒) บอกขนาด ได้แก่ สูง ใหญ่ เล็ก ยาว สั้น โต แคบ ฯลฯ ต้นไม้สูง แม่น้ำกว้าง
๓) บอกสัณฐาน ได้แก่ กลม บาง แบน รี ฯลฯ โต๊ะกลม ใบไม้รี
๔) บอกสี ได้แก่ ดำ ขาว เหลือง แดง ฯลฯ เสื้อดำ ผ้าเหลือง ใบไม้เขียว
๕) บอกเสียง ได้แก่ ดัง ค่อย เพราะ แหบ เครือ ฯลฯ เสียงดัง พูดค่อย
๖) บอกกลิ่น ได้แก่ เหม็น หอม ฉุน คาว ฯลฯ ดอกไม้หอม น้ำเหม็น
๗) บอกรส ได้แก่ เปรี้ยว ขม จืด เผ็ด หวาน เค็ม มัน ฯลฯ ส้มเปรี้ยว น้ำตาลหวาน
๘) บอกสัมผัส ได้แก่ ร้อน เย็น นิ่ม กระด้าง แข็ง ฯลฯ น้ำร้อน เบาะนุ่ม
๙) บอกอาการ ได้แก่ ช้า เร็ว เอื่อย ซึม ฉลาด ซื่อ ฯลฯ วิ่งเร็ว ไหลเอื่อย
๔.๒ กาลวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกเวลา ประกอบได้ทั้งนาม สรรพนาม และ
กริยา ได้แก่ เดี๋ยวนี้ เช้า เย็นช้า นาน โบราณ ปัจจุบัน ฯลฯ
๔.๓ สถานวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกสถานที่ ประกอบทั้งนาม สรรพนาม กริยา
ได้แก่ ใกล้ ไกล ห่าง ชิด ใต้ เหนือ ล่าง บน ฯลฯ
๔.๔ ประมาณวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกจำนวน แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑) บอกจำนวนจำกัด ได้แก่คำว่า หมด สิ้น ทั้งหมด ทั้งปวง บรรดา ทั้งผอง
๒) บอกจำนวนไม่จำกัด ได้แก่ มาก น้อย จุ หลาย ๆ ฯลฯ
๓) บอกจำนวนแบ่งแยก ได้แก่ บาง บ้าง ต่าง สิ่งละ คนละ ฯลฯ
๔) บอกจำนวนนับ แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ บอกจำนวนเลข เช่น หนึ่ง สอง กับบอกจำนวนที่
เช่น ที่หนึ่ง ที่สอง
๔.๕ ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่น เป็นคำถาม ได้แก่ ใด อะไร ทำไม ไหน เท่าไร
เช่น คนไหนเรียนเก่ง เธอมากี่คน
๔.๖ นิยมวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่น เพื่อบอกความแน่นอน ความชัดเจน เช่น นี้ นั้น แท้
แบ่งเป็น ๒ ชนิด
๑) บอกความแน่นอนในความหมาย เช่น ฉันเอง ไปแน่ สวยแท้ ดีทีเดียว
๒) บอกความแน่นอนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น คนนั้น ที่นั้น ที่นี่
๔.๗ อนิยมวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ประกอบคำอื่น โดยไม่บอกกำหนดแน่นอนลงไป เช่น อื่น อื่นใด
ไย เช่น เหตุใดเธอรีบกลับบ้าน
๔.๘ ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้แสดงรับรอง โต้ตอบ รับขาน เช่น จ๋า ครับ เออ คุณขา
กระหม่อม พะย่ะค่ะ
๔.๙ ประติเสธวิเศษณ์ คือ คำที่บอกความห้าม หรือไม่รับรอง เช่น ไม่ใช่ มิได้ บ่
๔.๑๐ ประพันธวิเศษณ์ คือ คำประพันธสรรพนาม ซึ่งเอามาใช้เหมือนคำวิเศษณ์ ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน
เช่น เขาพูดอย่างที่ฉันพูด ที่ ซึ่ง อัน ถ้าอยู่ติดกับคำนาม หรือสรรพนามจะเป็น
ประพันธสรรพนาม ถ้าอยู่ติดกับกริยาหรือกริยาวิเศษณ์จะเป็นประพันธวิเศษณ์
๕. คำบุพบท คือ คำที่ใช้นำหน้าคำอื่น ได้แก่ นำหน้า คำนาม คำสรรพนาม คำกริยาสภาวมาลา เพื่อ
บอกตำแหน่งแห่งที่ของคำเหล่านั้น แบ่งเป็น ๒ อย่าง
๕.๑ คำบุพบทที่ไม่เชื่อมคำกับคำอื่น ได้แก่ คำนำหน้า คำทักทายในบทอาลปนะ (คำที่ใช้
เรียกร้องผู้ที่จะพูดด้วย) เช่น อันว่า ดูก่อนดูรา ข้า แต่แน่ะ
๕.๒ บุพบทที่เชื่อมกับคำอื่น คือ บุพบทที่นำหน้าคำนาม สรรพนาม กริยาสภาวมาลา
๑) บุพบทนำหน้าบทกรรม ได้แก่ ซึ่ง สู้ ยัง แก่ ตลอด
๒) บุพบทนำหน้าบทอื่นในฐานะเครื่องใช้หรือติดต่อกัน ได้แก่ด้วย โดย อัน ตาม กับ
๓) บุพบทนำหน้าบทอื่นในฐานะเป็นผู้รับ ได้แก่ เพื่อ ต่อ แก่ แต่ เฉพาะ
๔) บุพบทนำหน้าบทอื่นเพื่อบอกที่มาหรือต้นเหตุ ได้แก่ แต่ จาก กว่า เหตุ ตั้งแต่
๕) บุพบทนำหน้าบอกเวลา ได้แก่ เมื่อ ณ แต่ ตั้งแต่ จน สำหรับ เฉพาะ
๖) บุพบทนำหน้าบอกสถานที่ ได้แก่ ใต้ บน ริม ชิด ใกล้ ที่
การใช้บุพบทบางคำ
กับ
๑. ใช้ในความร่วมด้วย ทำกริยาเหมือนกัน เช่น ครูไปกับศิษย์
๒. ใช้ในความหมายที่ไปด้วย มาด้วย อยู่ด้วย เสียหายด้วย เช่น ทำกับมือ เห็นกับตา
๓. ใช้ในความที่อยู่ด้วยกัน ไปด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน เช่น บุตรกับธิดา โคกับเกวียน
๔. ใช้ในความหมายในสิ่งที่จำนวนมาก ไปด้วยกัน มาด้วยกัน อยู่ด้วยกัน เช่น ฉันมากับหนุ่ม ครู
ไปกับคณะนักเรียน
แก่
ใช้นำหน้าคำที่เกี่ยวกับการให้ มักใช้สำหรับผู้น้อย หรือผู้ที่อยู่ในฐานะเดียวกัน เช่น ฉันบอกแก่
เธอลงโทษแก่ผู้กระทำผิด ให้ถ้อยคำแก่ศาล
แด่
ใช้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการให้อันเป็นที่เคารพสักการะ เช่น ถวายไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์
ต่อ
๑. ใช้ในความหมายเมื่อเป็นที่รับในต่างชั้นกัน เช่น เรียนต่อท่านรัฐมนตรี รายงานต่อหัวหน้า
ให้การต่อศาล
๒. เป็นการแสดงความเกี่ยวข้องกัน ใช้ในความหมายติดต่อกัน ความขัดแย้งกัน เช่น เขาด่าต่อ
หน้าเรา เขาเป็นคนซื่อตรงต่อเวลา
โดย, ตาม
ใช้เมื่อเป็นบทแห่งกริยา เช่น เขาทำตามคำสั่ง ไปโดยสวัสดิภาพ
ใน
๑. ใช้กับบุคคลที่เคารพนับถือหรือสิ่งที่สักการะ เช่น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ใน
๒. ใช้ในความหมายเพื่อแสดงว่าของเล็กอยู่ในของใหญ่ เช่น คิดในใจ ความในอกปลาในน้ำ
คนไทยในต่างประเทศ
๖. คำสันธาน คือ คำซึ่งใช้ต่อหรือเชื่อมถ้อยคำให้ติดต่อกัน แบ่งเป็น ๓ ประการ
๖.๑ เชื่อมคำต่อคำ
๖.๒ เชื่อมประโยคต่อประโยค
๖.๓ เชื่อมความต่อความ
ชนิดของคำสันธาน มี๘ ชนิด
๑) เชื่อมความคล้อยตามกัน ได้แก่ เช่นว่า คือ กับ และ จึง ครั้น…จึง
๒) เชื่อมความแย้งกัน ได้แก่ แต่ แต่ทว่า แม้ ก็ กว่า…ก็ แม้…ก็
๓) เชื่อมความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ ด้วย เพราะ จึง เพราะฉะนั้น ฯลฯ
๔) เชื่อมความที่เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หรือ มิฉะนั้น ไม่เช่นนั้น
๕) เชื่อมความที่ต่างตอนกัน ได้แก่ ฝ่าย ส่วน อนึ่ง
๖) เชื่อมความเปรียบเทียบ ได้แก่ดุจ ประหนึ่งว่า คล้าย เหมือน ฯลฯ
๗) เชื่อมความแบ่งรับแบ่งสู้ ได้แก่ ถ้า ผิว่า แม้ว่า ต่างว่า สมมติว่า
๘) เชื่อมความให้สละสลวย ได้แก่ อย่างไรก็ตาม สุดแต่ว่า ทำไมกับ
๗. คำอุทาน คือ คำชนิดหนึ่ง ซึ่งบอกเสียงคน สัตว์ หรือสิ่งของต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด
๗.๑ อุทานบอกอาการ แบ่งเป็น
๑. อาการร้องเรียก หรือบอกให้รู้ตัว เช่น นี่แนะ เฮ้ย โว้ย ฯลฯ
๒. อาการโกรธเคือง เช่น ชะ ๆ ชิ ๆ เหม่ ดูดู๋ ฯลฯ
๓. อาการประหลาดหรือตกใจ เช่น อ๊ะ เออแน่ แม่เจ้าโว้ย ฯลฯ
๔. อาการสงสัย หรือปลอบโยน เช่น เจ้าเอ๋ย อนิจจา พุทโธ่ ฯลฯ
๕. อาการเข้าใจหรือรับรู้ เช่น เออ เออน่ะ อ้อ ฯลฯ
๖. อาการเจ็บปวด เช่น โอย โอ้ย ฯลฯ
๗. อาการสงสัยหรือไต่ถาม เช่น หา หือ ฯลฯ
๘. อาการห้ามหรือทักท้วง เช่น ฮ้า ไฮ้ อื้อหือ ฯลฯ
๙. อาการจากสิ่งธรรมชาติ เช่น ปัง ปึง ตูม โครม ฯลฯ
๗.๒ อุทานเสริมบท คือ การเสริมถ้อยคำเพื่อฟังให้รื่นหู เช่น ไม่ลืมหูไม่ลืมตา แขนแมน
เสื่อสาด ดีอกดีใจ ผู้หญิงยิงเรือ อาบน้ำอาบท่า อยู่บ้านอยู่ช่อง
สรุป
๑. พยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ออกมาพร้อม ๆ กัน พยางค์ แต่ละ
พยางค์ ต้องมีส่วนประกอบอย่างน้อย ๓ ส่วน อย่างมาก ๕ ส่วน คือ (๑) พยัญชนะ (๒) สระ (๓)
วรรณยุกต์(๔) ตัวสะกด (๕) ตัวการันต์
๒. คำ คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งจะกี่พยางค์ก็ตามแต่ได้ความเป็นอย่างหนึ่งเรียกว่า คำหนึ่ง
๓. คำที่ใช้อยู่ในภาษาไทย จำแนกออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ดังนี้(๑) คำนาม (๒) คำสรรพนาม (๓)
คำกริยา (๔) คำวิเศษณ์(๕) คำบุพบท (๖) คำสันธาน (๗) คำอุทาน