เรื่องพาลนักษัตร
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนักษัตรของคนพาล ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 26 และพระคาถาที่ 27 นี้
ครั้งหนึ่งได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองพาลนักษัตรในกรุงสาวัตถี ในระหว่างที่จัดงานเทศกาลครั้งนี้พวกชายหนุ่มที่โง่ๆทั้งหลายเอาขี้เถ้าและมูลโคทาตามตัว แล้วเที่ยวตระเวนร้องตะโกนเสียงอึกทึกตามที่สาธารณะต่างๆ พวกเขาจะไปหยุดอยู่ที่หน้าประตูบ้านของผู้คนทั้งหลาย และเมื่อเจ้าของบ้านนำเงินมาให้ถึงจะออกเดินทางไปที่บ้านหลังอื่นต่อไป
ในระหว่างนั้นมีพวกอุบาสกอุบาสิกอยู่ในกรุงสาวัตถีเป็นจำนวนมาก พวกอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้ เห็นว่าในช่วงเทศกาลนี้เต็มไปด้วยพวกวัยรุ่นที่ส่งเสียงเอะอะโวยวาย จึงได้ส่งข่าวไปทูลพระศาสดาขอให้พระองค์ประทับอยู่แต่ในวัดและอย่าได้เสด็จเข้ามาในตัวเมืองเป็นเวลา 7 วัน พวกเขาได้จัดส่งภัตตาหารไปถวายที่วัดและพวกตนเองก็เก็บตัวเงียบอยู่แต่ในเรือนไม่ออกมาข้างนอกเหมือนกัน พอถึงวันที่ 8 เมื่อเทศกาลพาลนักษัตรนี้เลิกแล้ว พระศาสดาและพระสาวกก็ได้รับนิมนต์ให้ไปรับอาหารบิณฑบาตในตัวเมือง เมื่ออุบาสกอุบาสิกากราบทูลเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวและน่าละอายของพวกเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น พระศาสดาได้ตรัสว่าเป็นธรรมชาติของพวกคนโง่ที่มีพฤติกรรมไร้ยางอาย
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 26 และพระคาถาที่ 27 ดังนี้
ปมาทมนุยุญฺชนฺติ
พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา
อปฺปมาทญจ เมธาวี
ธนํ เสฏฺฐํ ว รกฺขติฯ
คนพาล ปัญญาทราม
มักมัวแต่ประมาท
ส่วนบัณฑิต ย่อมรักษาความไม่ประมาท
เหมือนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ.
มา ปมาทมนุยุญฺเชถ
มา กามรติสนฺถวํ
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโน
ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํฯ
พวกเธออย่ามัวแต่ประมาท
อย่ามัวแต่จะลุ่มหลงในกามคุณ
ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่เท่านั้น
ถึงจะบรรลุสุขอันไพบูลย์(คือบรรลุนิพพาน)ได้.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.