เรื่องกุมภโฆสก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่อกุมภโฆสก ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 24 นี้
ครั้งหนึ่งได้เกิดโรคระบาดชนิดหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ในบ้านของเศรษฐีประจำเมืองนี้ผู้หนึ่ง พวกคนใช้ตายด้วยโรคนี้ทั้งหมด เศรษฐีและภรรยาก็ติดเชื้อของโรคนี้เช่นกัน เมื่อทั้งสองคนเห็นว่าจะไม่รอดชีวิตแน่ ก็จึงได้บอกนายกุมภโกสกบุตรชายให้หนีออกจากบ้านไป แล้วค่อยกลับมาเมื่อโรคระบาดนี้สงบลงแล้ว ทั้งสองสามีภรรยาได้บอกกับบุตรชายถึงสถานที่ที่พวกตนได้ฝังทรัพย์จำนวน 40 โกฏิเอาไว้ด้วย เมื่อบุตรชายของเศรษฐีออกจากเมืองราชคฤห์ไปแล้วก็ได้เข้าไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปีแล้วกลับมาที่กรุงราชคฤห์อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อตอนกลับมาคราวนี้บุตรชายเศรษฐีเป็นหนุ่มใหญ่และไม่มีผู้ใดในเมืองจดจำเขาได้ เขาได้ไปยังสถานที่ที่บิดามารดาบอกว่าได้ฝังทรัพย์เอาไว้นั้นและก็ได้พบว่าทรัพย์เหล่านั้นยังคงมีอยู่ แต่เขามีความคิดว่าเมื่อไม่มีใครจำเขาได้เช่นนี้แล้ว หากเขาไปขุดทรัพย์ที่ฝังเอาไว้นั้นขึ้นมาและใช้สอยทรัพย์นั้น ผู้คนก็จะพากันคิดว่าเขาเป็นคนยากจนแต่ไปพบขุมทรัพย์โดยความบังเอิญและก็จะรายงานให้พระราชาทรงทราบ ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาทรัพย์ของเขาก็จะถูกยึดเป็นของหลวง และตัวเขาเองก็ถูกจองจำไว้ในคุกด้วย ดังนั้นเขาจึงตกลงใจว่ายังไม่ถึงเวลาที่เขาจะไปขุดเอาทรัพย์นั้นขึ้นมาใช้สอย แต่เขาจะไปรับจ้างหาเงินมาเลี้ยงชีวิตไปพลางๆก่อน เขาจึงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าปอนๆ ไปเที่ยวรับจ้างขายแรงงานกินตามอัตภาพ โดยเขาได้ไปรับจ้างเป็นยามคอยปลุกคนให้ลุกขึ้นในตอนเช้า และคอยเดินไปประกาศให้คนทั้งหลายได้รู้ว่าเวลานั้นเวลานี้เป็นเวลาจัดเตรียมอาหาร เวลาเตรียมเกวียน เวลาเอาโคมาเทียมเกวียน เป็นต้น
เช้าวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับเสียงประกาศของนายกุมภโฆสก เนื่องจากพระองค์ทรงมีความรู้ในเรื่องเสียงของคน จึงตรัสว่า " นั่นเป็นเสียงของคนที่มีทรัพย์มาก” หญิงรับใช้ของพระราชาคนหนึ่งเมื่อได้ฟังพระราชาตรัสเช่นนั้น จึงได้ส่งคนคนหนึ่งไปทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในทางลับ ชายคนนั้นกลับมารายงานว่าชายหนุ่มเจ้าของเสียงเป็นเพียงผู้ขายแรงงานธรรมดาๆคนหนึ่งเท่านั้นเอง แม้ว่าจะทรงได้รับรายงานเช่นนี้แต่พระราชาก็ยังทรงย้ำพระดำรัสเดิมสองวันติดต่อกัน และก็ได้มีการส่งคนไปเสาะหาความจริงแต่ก็ได้รับรายงานเช่นเดิมอีก พอถึงคราวนี้หญิงรับใช้ของพระราชาคิดว่าเรื่องนี้แปลกประหลาดมาก นางจึงรับอาสาพระราชาไปทำการสืบข่าวด้วยตนเอง ซึ่งพระราชาก็ทรงยินยอมให้กระทำได้
นางคนใช้ของพระราชาได้ปลอมตัวเป็นคนบ้านนอกพร้อมกับบุตรสาวเดินทางไปที่ย่านที่พำนักของพวกขายแรงงาน เมื่อไปถึงก็ได้บอกว่าพวกตนเป็นคนเดินทางมาจากบ้านนอกไม่มีที่พักแรมอยากจะขอพักแรมในบ้านของนายกุมภโกสกสักคืนหนึ่ง แต่พอพักคืนหนึ่งแล้วก็หาเลศนัยพักอยู่ต่อไปอีกลายคืน ในระหว่างนั้นหญิงรับใช้ของพระราชาได้วางแผนทูลพระราชาให้ทรงประกาศให้มีการจัดพิธีกรรมอย่างหนึ่งขึ้นในย่านของผู้ใช้แรงงานนั้น ซึ่งผู้ใช้แรงงานทุกบ้านจะต้องบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานครั้งนี้ ข้างนายกุมภโฆสกหาเงินสดมาบริจาคไม่ได้ สถานการณ์บังคับทำให้เขาต้องไปนำเงินเหรียญกหาปณะส่วนหนึ่งจากขุมทรัพย์ที่ฝังไว้นั้นมาบริจาค เมื่อเขาเอาเหรียญกหาปณะเหล่านี้มายื่นให้หญิงรับใช้ของพระราชา นางจึงกันเอาเหรียญเหล่านั้นแยกไว้ต่างหากแล้วเอาเงินของนางใส่ไปไว้แทน จากนั้นได้นำเหรียญเหล่านั้นส่งไปถวายพระราชา หลังจากนั้นไม่นานนางก็ทูลให้พระราชาส่งเจ้าหน้าที่ราชบุรุษมาคุมตัวของนายกุมภโฆสกเข้าไปสอบสวนในพระราชวัง นายกุมภโฆสกติดตามเจ้าหน้าที่ไปโดยไม่เต็มใจ ทั้งนี้โดยที่นางหญิงคนใช้ กับบุตรสาวได้เดินทางเข้าไปในพระราชวังล่วงหน้าเพื่อเป็นพยานเรียบร้อยแล้ว
ที่พระราชวังพระราชาได้ตรัสบอกนายกุมภโฆสกให้พูดความจริงออกมาทั้งหมด โดยที่พระองค์ได้ทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีโทษใดๆเกิดขึ้นในเรื่องนี้ นายกุมภโฆสกเมื่อจนด้วยประจักษ์พยานจึงได้รับสารภาพว่าทรัพย์เหล่านั้นเป็นของตน และว่าตนเป็นบุตรของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ที่ได้เสียชีวิตจากโรคระบาดเมื่อ 12 ปีก่อน เขาได้ทูลพระราชาได้ทราบถึงที่ซ่อนทรัพย์เหล่านั้นด้วย ต่อมาทรัพย์ที่ฝั่งไว้เหล่านั้นก็ได้ถูกขุดค้นแล้วขนไปไว้ที่พระราชวัง พระราชาได้แต่งตั้งให้นายกุมภโฆสกเป็นเศรษฐีและได้พระราชทานพระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์แก่นายกุมโฆสกด้วย
ต่อมาพระราชาได้ทรงพานายกุมภโฆสกไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเวฬุวัน และได้กราบทูลว่านายกุมภโฆสกนี้แม้ว่าจะยังหนุ่มแน่นและร่ำรวยก็ยังหาเงินหาทองเลี้ยงชีวิตด้วยการรับจ้างขายแรงงงาน และได้กราบทูลด้วยว่าพระองค์ได้ทรงสถาปนาเขาไว้ในตำแหน่งเศรษฐีแล้ว
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 24 ว่า
อุฏฺฐานวโต สติมโต
สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน
อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติฯ
ยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ
มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ
สำรวมระวัง ดำเนินชีวิตโดยชอบ
และไม่ประมาท.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง กุมภโฆสกเศรษฐีก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน.