เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย เว อุปฺปติตํ โกธํ เป็นต้น
แต่เดิมผู้บวชแล้วต้องอยู่โคนต้นไม้หรือถ้ำาเขา ต่อมาพระศาสดาทรงอนุญาตให้ภิกษุมีเสนาสนะกุฎีวิหารเป็นที่อยู่อาศัยได้ และพวกคฤหัสถ์ชาวบ้านมีเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์เป็นต้น ก็ได้เริ่มก่อสร้างเสนาสนะต่างๆเหล่านั้นถวายภิกษุสงฆ์ มีภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่ง ต้องการสร้างวัดด้วยตนเอง จึงเข้าไปในป่าเพื่อตัดต้นไม้ เดินไปเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งก็รู้สึกพึงพอใจ เงื้อขวานขึ้นจะตัด เทวดาที่สถิตอยู่ที่ต้นไม้(รุกขเทวดา) กำลังมีลูกอ่อน อุ้มบุตรเข้าสะเอว มายืนอ้อนวอนว่า “พระคุณเจ้า ขอท่านอย่าตัดวิมานของข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าไม่มีที่อยู่ ไม่อาจอุ้มบุตรเที่ยวเร่ร่อนไปได้”
ภิกษุนั้นเห็นว่าต้นไม้ต้นนั้นเท่านั้นเหมาะที่จะตัด จึงไม่ยอมฟังความของเทวดา เทวดาจึงใช้วิธีการที่จะให้ภิกษุนั้นใจอ่อน โดยรีบนำบุตรไปแขวนไว้ที่กิ่งไม้ พระภิกษุเงื้อขวานขึ้นแล้วยั้งมือไม่ทัน คมขวานเลยไปถูกแขนของทารกลูกของเทวดาขาด เทวดาโกรธมาก ได้ยกมือทั้งสองขึ้นด้วยหมายใจว่าจะฟาดภิกษุนั้นให้ตาย แต่ก็ยั้งมือไว้ทัน ด้วยฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีล ถ้าเราฆ่าภิกษุนี้ ก็จักไปเกิดในนรก พวกเทวดาอื่นๆ ที่พบภิกษุมาตัดต้นไม้ของตนบ้าง ก็จะเอาเราเป็นตัวอย่าง เข่นฆ่าภิกษุทั้งหลายเหมือนกัน แต่ภิกษุนี้มีเจ้าของ ทางที่ดีเราควรไปหาคนที่เป็นเจ้าของนั้น คิดแล้วรุกขเทวดานั้น ก็ร้องไห้ไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลเรื่องราวตั้งแต่ต้น แม้จนกระทั่งความคิดของตนเองที่ข่มใจโกรธไม่ทำร้ายภิกษุรูปนั้น พระศาสดาตรัสว่า “ถูกแล้วๆ เทพดา เธอข่มความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างนั้นไว้อยู่ เหมือนห้ามล้อรถกำลังหมุนไว้ได้ ชื่อว่าทำความดีแล้ว”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
โย เว อุปฺปติตํ โกธํ
รถํ ภนฺตํว ธารเย
ตมหํ สารถึ พฺรูมิ
รสฺมิคาโห อิตโร ชโน ฯ
ผู้ใดแลสะกดความโกรธที่พลุ่งขึ้น
เหมือนคนห้ามรถที่กำลังแล่นไปได้
เราเรียกผู้นั้นว่า สารถี
ส่วนคนนอกนี้เป็นเพียงผู้ถือเชือก.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง รุกขเทวดา บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนา มีประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว
รุกขเทวดานั้น แม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังยืนร้องไห้อยู่ พระศาสดาตรัสถามถึงสาเหตุที่ยังร้องไห้อยู่นั้น เมื่อทราบความว่าอยากจะได้ต้นไม้ที่จะใช้สิงสถิตต้นใหม่ พระศาสดาจึงทรงชี้ไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ใกล้กับพระคันธกุฎี ตรัสว่า “ ต้นไม้ต้นโน้นว่าง เธอจงเข้าไปสถิตเถิด” รุกขเทวดาก็ได้เข้าไปสถิตที่ต้นไม้นั้น และไม่มีเทวดาองค์ใดมาแย่งชิงต้นไม้ต้นนี้ไปจากรุกขเทวดานั้นได้ เพราะต่างทราบดีว่า “เป็นวิมานของเทวดานี้ อันพระพุทธเจ้าประทาน” นอกจากนั้นแล้ว พระศาสดาก็ยังทำเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงบัญญัติภูตคามสิกขาบท ห้ามภิกษุทั้งหลายพรากของเขียว ไม่ว่าจะเป็น ผัก หญ้า ต้นไม้ ที่ยังมีชีวิตเขียวสดอยู่ ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติ.
No comments:
Post a Comment
Add your comment here.