Translate

Total Pageviews

Story of Princess Rohini

 เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี




พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม  ทรงปรารภเจ้าหญิงโรหิณี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โกธํ  ชเห  เป็นต้น.

สมัยหนึ่ง  พระอนุรุทธเถระ  (พระอดีตเจ้าชายอนุรุทธะ)ได้ไปที่เมืองกบิลพัสดุ์  พร้อมด้วยภิกษุ 500 รูป  ขณะที่ท่านพำนักอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองนี้  พวกพระญาติของท่าน  เมื่อทราบว่าท่านมา  ก็ได้มาถวายความเคารพ  ยกเว้นแต่พระน้องนางของพระเถระชื่อโรหิณี  เมื่อท่านทราบว่าเจ้าหญิงโรหิณีไม่มา เพราะเป็นโรคเรื้อน  ท่านจึงให้คนไปเชิญเจ้าหญิงมาพบ  เจ้าหญิงได้เรียนกับพระอนุรุทธะว่า  ที่พระนางไม่มาก็ด้วยความละอายที่เป็นโรคเรื้อนนี้   พระเถระได้แนะนำเจ้าหญิงว่า  โรคนี้เป็นโรคกรรม  ก็ต้องแก้ด้วยการทำบุญ  แล้วท่านก็ได้แนะนำให้เจ้าหญิงขายเครื่องประดับ  แล้วนำเงินที่ได้มาสร้างโรงฉัน สำหรับพระภิกษุสงฆ์  ซึ่งเจ้าหญิงได้ตอบตกลงตามคำแนะนำของพระเถระ  เมื่อรวบรวมได้เงินจากการขายเครื่องประดับของเจ้าหญิงมาแล้ว  พระเถระก็ได้ขอให้พระญาติคนอื่นๆช่วยดำเนินการในการก่อสร้างโรงฉันนั้น  ในระหว่างการก่อสร้างโรงฉันยังไม่เสร็จ  พระเถระได้แนะนำให้เจ้าหญิงโรหิณีกวาดพื้นโรงฉัน ปูอาสนะสำหรับพระสงฆ์ และตักน้ำใส่ตุ่มน้ำในในโรงฉันทุกวัน  ซึ่งเจ้าหญิงได้ปฏิบัติตามที่พระเถระแนะนำทุกอย่าง  พระคัมภีร์กล่าว่า  เมื่อพระนางกวาดโรงฉันอยู่นั้น  โรคเรื้อนก็เริ่มมีอาการดีขึ้นๆ ตามลำดับ   เมื่อโรงฉันสร้างเสร็จแล้ว  เจ้าหญิงก็ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระศาสดาเป็นประมุขมานั่งจนเต็มโรงฉัน  แล้วนางก็ได้ให้คนอังคาสพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ด้วยภัตตาหารที่ประณีต

เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว  พระศาสดาตรัสถามถึงเจ้าภาพผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงทานและถวายภัตตาหารในครั้งนี้  พระอนุรุทธะกราบทูลว่า  เจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของทานค็คือเจ้าหญิงโรหิณี  พระศาสดาจึงได้มีรับสั่งให้คนไปเชิญพระนางมาเฝ้า  แล้วตรัสถามว่า พระนางทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเรื้อนนี้หรือไม่  เมื่อพระนางตอบว่าไม่ทราบ  พระศาสดาตรัสว่า  ที่พระนางเป็นโรคร้ายแรงนี้ก็เพราะมีสมุฏฐานมาจากความโกรธแต่ในอดีตชาติ  พระศาสดาจึงได้นำเรื่องบุรพกรรมของพระนางมาเล่าว่า  ในชาติหนึ่ง พระนางเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี  ได้มีจิตริษยาโกรธแค้นอาฆาตหญิงนักเต้นรำ(นาฏกิตถี)คนโปรดคนหนึ่งของพระราชาผู้สวามี  ทรงดำริว่า  “จักให้ทุกข์บังเกิดแก่หญิงนั้น”  แล้วให้คนนำลูกหมามุ่ยมาบดเป็นผง  โรยใส่ในที่นอนและที่ผ้าห่มของหญิงนั้น  ต่อไปก็เรียกหญิงนั้นข้ามาแล้วใช้ผงหมาหมุ่ยสาดลงบนตัว   ทำให้ร่างกายของหญิงคนโปรดของพระราชาเกิดอาการพุพองป็นตุ่มน้อยตุ่มใหญ่  ซึ่งนางยิ่งเกาก็ยิ่งแสบคัน  เมื่อนางวิ่งเข้าไปนอนในห้องนอน ก็ไปเจอกับผงหมามุ่ยที่โรยอยู่ตามที่นอนและที่ผ้าห่มซ้ำเข้าอีก  ก็ยิ่งคันยิ่งเกาและยิ่งทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น   พระอัครมเหสีในชาตินั้นก็คือเจ้าหญิงโรหิณีในชาตินี้นั่นเอง  เพราะผลของบาปกรรมในครั้งนั้น เจ้าหญิงโรหิณีจึงมาเป็นโรคเรื้อนในปัจจุบันชาติ  ครั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาล่าแล้ว  ตรัสว่า “โรหิณี  ก็กรรมนั่นที่เธอทำแล้วในกาลนั้น  ก็ความโกรธก็ดี  ความริษยาก็ดี  แม้มีประมาณเล็กน้อย  ย่อมไม่ควรทำเลย”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โกธํ  ชเห  วิปฺปชเหยฺย  มานํ
สํโยชนํ  สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตํ  นามรูปสฺมิมสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ  นานุตปนฺติ  ทุกขา ฯ

บุคคลพึงละความโกรธ  สละความถือตัว
ล่วงสังโยชน์ทั้งสิ้นได้
ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกต้องบุคคลนั้น
ผู้ไม่ข้องในนามรูป  ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล.

เมื่อพระธรรมเทศฯจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
แม้พระนางโรหิณี  ก็บรรลุโสดาปัตติผล  พระนางได้หายจาโรคเรื้อน  และมีผิวพรรณดุจทองคำ.

พระคัมภีร์ยังได้กล่าวด้วยว่า  เมื่อพระนางโรหิณีสิ้นพระชนม์แล้ว  ก็ได้ไปเกิดในชาติใหม่เป็นนางเทพธิดา อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เป็นผู้มีความงดงามล้ำเลิศ  เป็นที่หมายปองของเทพบุตร  4 องค์  จนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งชิงนาง  เมื่อตกลงกันไม่ได้  ต้องไปให้ท้าวสักกะ  จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เป็นตุลาการตัดสินคดีความ  แต่พอตุลาการผู้ทรงเกียรติเห็นนางเทพธิดาเท่านั้น  ก็หลงรักนางอีกเหมือนกัน  เรื่องจึงลงเอยที่  เทพบุตรทั้ง 4  จำต้องหลีกทางให้ท้าวสักกะ   เพราะพระองค์ทรงให้เหตุผลที่หนักแน่นกว่าว่า  หากพระองค์ไม่ได้นางมาครอบครองก็ต้องตายแน่ๆ ดังสำนวนในพระคัมภีร์กล่าวถึงดำรัสของท้าวสักกะกับเทพบุตร 4 องค์นั้นว่า “พ่อทั้งหลาย  จิตของพวกท่านยังพอข่มได้ก่อน  ส่วนเรา  เมื่อได้เทพธิดานี้  จักเป็นอยู่  เมื่อเราไม่ได้ จักต้องตาย”  ท้าวสักกะทรงมีพระทัยทั้งรักทั้งหลงนางเทพธิดา  ทรงตามใจนางทุกอย่าง  จนถึงขั้นที่ว่า  “เมื่อนางกราบทูลว่า หม่อมฉันจะไปสู่สนามเล่นชื่อโน้น  ท้าวสักกะก็ไม่สามารถจะทรงขัดคำของนางได้เลย”

No comments:

Post a Comment

Add your comment here.