Translate

Total Pageviews

Story of Phrah Chulapanthaka Thera

เรื่องพระจูฬปันถกเถระ



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อจูฬปันถก ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 25 นี้

เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้หนึ่ง มีหลานชาย 2 คน คนหนึ่งชื่อ มหาปันถก และอีกคนหนึ่งชื่อ จูฬปันถก คนที่ชื่อมหาปันถกเป็นพี่ชาย เคยติดตามท่านเศรษฐีผู้เป็นตาไปฟังพระธรรมเทศนาอยู่บ่อยๆและ ต่อมาคนที่ชื่อมหาปันถกนี้ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุและไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนคนที่ชื่อจูฬปันถกผู้น้องนั้นก็ตามมาบวชเหมือนกัน แต่เนื่องจากในอดีตชาติเมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าเคยล้อเลียนภิกษุรูปหนึ่งที่ปัญญาทึบ จึงเกิดมาเป็นคนปัญญาทึบในชาตินี้ จูฬปันถกไม่สามารถจดจำพระคาถาได้แม้แต่พระคาถาเดียวแม้จะใช้เวลาเพียรพยายามมจดจำอยู่ถึง 4 เดือน พระมหาปันถกผู้พี่ชายเกิดความผิดหวังกับน้องชายเป็นอย่างมาก ถึงกับบอกว่าไม่คู่ควรที่จะบวชเป็นพระอยู่ต่อไป

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง หมอชีวกโกมารภัจได้มาที่วัดเวฬุวันเพื่อนิมนต์พระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน พระมหาปันถกซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เป็นพระภัตตุเทศก์ คือทำหน้าที่มอบหมายพระไปฉันตามแหล่งที่นิมนต์ไว้ นั้นได้ขีดฆ่าชื่อของพระจูฬบันถกออกจากบัญชีพระที่จะไปฉันภัตตาหาร เมื่อพระจูฬปันถกทราบเรื่องนี้ก็รู้สึกเสียใจมาก และได้ตัดสินใจจะลาเพศไปครองตัวเป็นฆราวาสดังเดิม พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ด้วยญาณพิเศษจึงเสด็จมาพาพระจูฬปันถกไปนั่งอยู่ที่หน้าพระคันธกุฎี จากนั้นพระองค์ได้ประทานผ้าขาวชิ่นหนึ่งให้แก่พระจูฬปันถกแล้วตรัสบอกให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วใช้มือถูผ้าชิ้นนั้นอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่เอามือถูผ้าชิ่นนั้นก็ให้ภาวนาว่า “รโชหรณํ ๆๆ” ซึ่งแปลว่า ผ้าเช็ดธุลี ๆๆ จากนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จไปยังเรือนของหมอชีวกโกมารภัจ พ้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

ในขณะเดียวกันนั้น พระจูฬปันถกก็ได้เอามือถูผ้าขาวชิ่นนั้นๆ แล้วภาวนาว่า “รโชหรณํ ๆๆๆ” ในไม่ช้าผ้าขาวชิ้นนั้นก็เกิดความสกปรก เมื่อพระจูฬปันถกเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับผ้า ก็รู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยง พระศาสดาทั้งที่ประทับอยู่ที่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจทรงทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของพระจุลปันถกโดยพระญาณพิเศษ จึงได้แผ่รัศมีไปปรากฏพระองค์อยู่เบื้องหน้าพระจุลปันถกตรัสว่า

“มิใช่ว่าจะมีเพียงชิ้นผ้านี้เท่านั้นที่ทำให้สกปรกได้ด้วยฝุ่นธุลี แต่ภายในของคนเราก็ยังมีฝุ่นธุลีคือ ราคะ โทสะ และโมหะ กล่าวคือ ความไม่รู้ในอริยสัจ 4 โดยการขจัดราคะ โทสะ และโมหะเหล่านี้ ก็จะทำให้บุคคลบรรลุเป้าหมายและบรรลุพระอรหัตตผลได้” พระจุลปันถกฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้วนำมาเพ่งพินิจ ต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยเหตุนี้พระจุลปันถกจึงยุติความเป็นคนปัญญาทึบตั้งแต่นั้น

ส่วนที่เรือนของหมอชีวก เป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายกำลังจะรินน้ำทักษิโณทกเป็นสัญญาณการถวายทานอยู่พอดี แต่พระศาสดาได้เอาพระหัตถ์มาปิดบาตรเอาไว้ และตรัสถามว่าที่วัดยังมีพระตกค้างอยู่หรือไม่ เมื่อได้รับคำทูลตอบว่าไม่มีพระอยู่ที่นั่น พระศาสดาตรัสว่ายังมีพระอยู่รูปหนึ่ง จึงได้ตรัสบอกคนไปพาพระจุลปันถกมาจากวัด เมื่อคนคนนั้นออกเดินทางจากเรือนของหมอชีวกโกมารภัจไปถึงที่วัดก็ได้พบพระภิกษุที่รูปร่างเหมือนๆกันอยู่จำนวน 1000 รูป ภาพนิมิตของพระเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยอานุภาพฤทธิ์ของพระจุลปันถก คนที่ส่งไปนั้นเกิดความสับสนและได้กลับมารายงานเรื่องนี้ให้หมอชีวกโกมารภัจได้ทราบ หมอชีวกโกมารภัจได้ส่งคนคนนี้ไปอีกเป็นครั้งที่สอง โดยให้ไปบอกว่าพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุที่ชื่อว่าจุลปันถก เมื่อคนคนนี้ไปพูดตามที่บอก พระทั้งพันรูปนั้นก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อาตมาคือพระจูฬปันถก ๆๆๆ” คนไปตามพระเกิดความสับสนขึ้นอีกและได้กลับมารายงานอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้หมอชีวกโกมารภัจได้ส่งคนไปตามพระนั้นกลับไปที่วัดเป็นครั้งที่สามและได้บอกผู้ไปตามพระว่าให้จับแขนพระรูปที่พูดเป็นรูปแรกว่า “อาตมาคือพระจูฬปันถก” เอาไว้ให้ดี ทันทีที่เขาไปจับแขนของพระรูปที่พูดเป็นรูปแรกเอาไว้รูปนิมิตอื่นก็หายไปทั้งหมด และพระจุลปันถกก็ได้เดินตามคนไปตามพระนั้นมาที่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจ หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระจูฬปันถกซึ่งได้รับบัญชาจากพระศาสดาได้แสดงธรรมอย่างมั่นใจและองอาจเสียงดังฟังชัดดุจราชสีห์หนุ่มบันลือสีหนาท

ต่อมาเมื่อภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้มาสนทนากัน พระศาสดาได้ตรัสว่า บุคคลที่ขยัน มีความบากบั่น ไม่ท้อถอย ย่อมจะบรรลุพระอรหัตตผล

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 25 ว่า

อุฏฺฐานเนนปฺปมาเทน
สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กริยาถ เมธาวี
ยํ โอโฆ นาภิกีรติฯ

โดยความขยัน ไม่ประมาท
สำรวมระวัง(มีศีล) และข่มใจตนเอง
ผู้มีปัญญาพึงสร้างเกาะ(ที่พึ่ง)
ที่ห้วงน้ำ(กิเลส) ท่วมไม่ถึง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนผู้มาปรชุมกัน.

No comments:

Post a Comment

Add your comment here.